วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

5 ขั้นตอนในการดูว่า ใครต้องรับโทษทาง อาญาหรือไม่

 5 ขั้นตอนในการดูว่า ใครต้องรับโทษทาง อาญาหรือไม่


1.มีการกระทำ แล้วหรือยัง ?
   พูดง่ายๆ ถ้าคุณยังไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย แล้วคุณจะผิดได้อย่างไร จริงไหม? คุณเคยได้ยินเรื่อง ละเมอ ฆ่าคนตายไหม ถูกสะกดจิต ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำไหม เอาตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ง่ายๆ เลยก็อย่างที่ คุณถูกเพื่อนจับมือคุณ ตบหัวเพื่อนอีกคน โดยที่คุณไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย นั่นแหละคือสิ่งที่ไม่ถือว่า "เป็นการกระทำตามกฎหมาย" 
   ทีนี้เราก็ต้องมาดูกันต่อว่า แล้ว ต้องอย่างไร ? จึงจะถือว่า "เป็นการกระทำตาม กฎหมาย" ผมอธิบาย ตามตำราทั่วๆ ไปดังนี้น่ะครับ
   1.ต้องเริ่มต้นโดยการ"คิด" 
     คุณจะทำอะไร คุณต้องคิด ถูกไหม? แม้จะเป็นเพียงเวลาแค่สิ้ววินาทีก็เถอะ การที่คุณเดินลื่นล้ม ไปชนทรัพย์สินของคนอื่น เสียหาย คุณก็ไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แต่อย่างใด 
   2.ต้อง "ตกลงใจ" ที่จะทำตามความคิดนั้น 
     คิดในใจเฉยๆ ยังไม่พอน่ะครับ ยังไม่ถือว่ามีการกระทำ ต้องตกลงที่จะทำตามที่คิดไว้ด้วย
   3.ทำตามที่ "ตัดสินใจ" ไว้ 
     แค่คคุณคิด คุณตัดสินใจไปแล้ว ว่าจะทำยังไม่ผิดน่ะครับ ต้องมีการแสดงการกระทำตาม ที่ได้ตัดสินใจไว้แล้วด้วย
จบขั้นตอนแรกไปแล้ว ในการพิจารณา ว่า "มีการกระทำตามกฎหมายหรือไม่" แต่มันยังไม่จบเพียงเท่านี้น่ะครับ เพราะการกระทำทางอาญา นั้นมันอยู่อยู่ 2 แบบ ครับ คือ
      1)การกระทำแบบทั่วๆ ไป กล่าวคือการกระทำ ที่ตามความเข้าใจของคนทั่วๆ ไปนี่ล่ะครับ มีการขยับตัว แขน ขา อ้าปากพูด เป็นต้นครับ
     2)การกระทำที่เป็นแบบ "งดเว้น" การงดเว้นไม่ทำบางอย่าง กฎหมายก็ถือว่าเป็นการกระทำน่ะครับ อย่างเช่นในประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติเรื่องของคนที่ไม่ช่วยคนอื่นที่อยู่ในอันตราย ทั้งๆ ที่ตัวเองสามารถช่วยได้ โดยไม่เป็นการเสี่ยงอันตรายอะไรมากมายนัก การที่พ่อ แม่ มีหน้าที่เลี้ยงดูบุตร ป้อนอาหาร ดูแลความปลอดภัยในแก่ เด็กเล็กที่ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้ แต่งดเว้นไม่เลี้ยงดู แบบนี้ กฎหมายถือว่า เป็นการกระทำโดยงดเว้นน่ะครับ 
     หากเราพิจารณาแล้ว เห็นว่า เขา"ไม่มีการกระทำตามกฎหมาย"เลย คุณก็ไม่ต้องไปพิจารณาข้ออื่นๆ น่ะครับ เพราะเขาคนนั้นไม่ผิด แน่ๆ แต่ถ้า คุณเห็นว่าเขา มี"การกระทำตามกฎหมาย"แล้ว ท่านต้องพิจารณา ในข้ออื่นๆ ต่อไปอีก ครับ อย่าเพิ่งด่วนสรุป เพราะการจะเอาคนๆ หนึ่งมาลงโทษนี่ ต้องมีการพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบครับ 

2.การกระทำนั้น ครบองค์ภายใน หรือไม่?
    หากผู้ที่ไม่ได้เรียนกฎหมาย อาจงง กับคำนี้แน่ๆ องค์ประกอบภายใน สำหรับทางกฎหมายนั้น มันก็คือ "เจตนา" นั่นเองครับ ทางกฎหมายอาญานั้น ถือหลักใหญ่ๆ อย่างนี้ครับ คือ "ถ้าไม่มีเจตนา ไม่ผิด" ครับ ผมเน้นย้ำอีกครั้งน่ะครับ "ไม่มีเจตนา ไม่ผิด" นี่คือหลักใหญ่เลย แต่ทีนี้ กฎหมายอาญา มันไม่มีเฉพาะ ความผิดที่ต้องการเจตนา อย่างเดียวน่ะซิครับ อันนีัถือว่าเป็นข้อยกเว้น หลักใหญ่ครับ ซึ่งกฎหมายในฐานนั้นๆ จะบัญญัติไว้ชัดเจนครับ ว่ามีฐานใดบ้าง ที่กฎหมายจะเอาผิดผู้กระทำ แม้ไม่มีเจตนาก็ตามครับ หาดูได้จากประมวลกฎหมายอาญาครับ เพราะบางฐาน กฎหมายมองว่ามันเป็นสิ่งที่ร้ายแรง กฎหมายก็เอาโทษ แม้กระทำโดยไม่มีเจตนา ถ้าได้กระทำการนั้นไปโดยประมาท เช่นฐานฆ่าคนตาย โดยประมาท แม้ไม่มีเจตนาฆ่า แต่ทำไปโดยความประมาท กฎหมายก็ลงโทษครับ และบางฐาน กฎหมายก็ไม่ได้สนใจอะไรเลย แม้ไม่เจตนา และก็ไม่ประมาท หากมีการกระทำผิด ก็ลงโทษได้เลย ไม่ต้องมาถามกันว่าคุณมีเจตนาไหม หรือคุณประมาทไหม  ส่วนมากจะเป็นความผิดฐานละหุโทษ น่ะครับ โทษไม่ได้หนักหนาอะไร
     แล้ว "เจตนา" คืออะไร ในทางกฎหมายนั้น เจตนามี 2 ประเภท ครับ
           1) เจตนาประสงค์ต่อผล คือ เป็นเจตนาที่ผู้กระทำต้องการในผลสุดท้าย ครับ เช่นต้องการให้ตาย ต้องการให้บาดเจ็บ ต้องการให้ ทรัพย์สินของเขาเสียหายเป็นต้น หากการกระทำสำเร็จ ดังที่ผู้กระทำมุ่งหมาย ก็จะเป็นความผิดสำเร็จครับ หากไม่สำเร็จตามที่เขามุ่งหมาย ก็จะผิดฐานพยายามครับ
           2) เจตนาเล็งเห็นผล คือ เป็นเจตนา ที่ผู้กระทำไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้น แต่เป็นผลที่เล็งเห็นว่าต้องเกิดขึ้นโดยแน่นอน เช่น แดง วางระเบิดเพื่อฆ่า อริของตน ในศูนย์อาหารที่มี ผู้คนที่คนใช้บริการมากมาย ระเบิดเป็นวัตถุอันตราย ที่มีอานุภาพทำลายล้าง ได้ในรัศมีกว้าง การที่มีผู้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บ จากระเบิดนั้น ย่อมเล็งเห็นผลได้ชัดว่า ย่อมเกิดขึ้นโดยแน่แท้ แดง จะแก้ตัวว่า ตนมีเจตนา แค่ฆ่าอริ ของตนเพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนคนอื่นๆ ตนไม่มีเจตนาให้ตาย หรือบาดเจ็บเลย จะแก้ตัวเช่นนี้ไม่ได้น่ะครับ เพราะกฎหมายถือว่าเป็นเจตนาเล็งเห็นผล ครับ ทุกคน ที่ตาย หรือบาดเจ็บ ถือว่า แดงมีเจตนาทำต่อบุคคลนั้นๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เจตนาเล็งเห็นผล ก็มีความผิดฐานพยายามได้เช่นเดียวกันครับ

  องค์ประกอบภายใน จะเกี่ยวข้องในเรื่องต่อไปนี้
     1)กระทำผิดโดยเจตนา
     2)กระทำผิดโดยประมาท
     3) กระทำผิดโดยไม่เจตนา 
ท่านผู้อ่าน ลองอ่านเหตุการณ์ นี้ลองดูครับ ว่าจะวินิจฉัย ความผิดของตัว ละคร อย่างไรบ้าง
  
 เหตุการณ์ที่1 
     ดำ และ แดง เข้าป่า ไปล่าสัตว์ ด้วยกัน ขณะกำลังวิ่งไล่ยิงหมูป่าอยู่นั้น จู่ๆ ดำ ก็เกิดปวดท้องถ่ายหนักขึ้นมา ดำ ไปถ่ายหนักอยู่ที่หลังพุ่มไม้ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับ ที่หมูป่าวิ่งผ่านไปทางนั้น พอดี แดง เห็น พุ่มไม้ ไหวๆ เข้าใจว่า คงเป็นหมูป่า โดยแน่แท้ เลย ยิงเข้าไปที่พุ่มไม้ โดยไม่ทันได้ดูให้ดีเสียก่อน ว่าเป็นหมูป่า หรือคน ท่านเห็นว่า แดง มีความผิดฐานใด
       1) ฐานฆ่าคนตาย โดยเจตนา
       2) ฐานฆ่าคนตาย โดยไม่เจตนา
       3)ฐานฆ่าคนตาย โดยประมาท
       4)ไม่ผิดฐานฆ่าคนตาย เพราะไม่มีเจตนา

เหตุการณ์ที่2
     ดำ และ แดง เป็นเพื่อนกัน ดำมีโรคประจำตัว คือโรค กะโหลกศีรษะบาง โดยที่แดงก็ไม่ทราบ วันหนึ่ง ดำ และ แดง มีเรื่องทะเลาะกัน ได้ชกต่อยกัน โดยทั้งสองคน ต่อสู้กันด้วยมือเปล่า ไม่มีอาวุธ ปรากฎว่า ระหว่างชกต่อย กันอยู่นั้น ดำเสียหลัก หัวไปชนกับ เสาบ้าน กะโหลกศีรษะแตก และเสียชีวิตทันที่ ในที่เกิดเหตุ ท่านเห็นว่า แดง มีความผิดฐานใด 
        1) ฐานฆ่าคนตาย โดยเจตนา
       2) ฐานฆ่าคนตาย โดยไม่เจตนา
       3) ฐานฆ่าคนตาย โดยประมาท
       4)ไม่ผิดฐานฆ่าคนตาย เพราะไม่มีเจตนา

    เหตุการณ์ ทั้ง 2 กรณี นี้ เกี่ยวข้องกับ องค์ประกอบภายใน ทั้งสิ้น เรามาลองวินิจฉัยความผิด ของแต่ กรณีกัน ครับ 
        เหตุการณ์ที่1 แดงมีความผิดตาม ข้อ 3) เพราะ การที่แดง เข้าใจว่า ดำ นั้น เป็นหมู่ป่า เกิดจากการที่ แดง ไม่ดูให้ดีเสียก่อนว่าเป็นคน หรือหมูป่า การกระทำของแดง เกิดจากความประมาท แดงจึงมีความผิด ฐานฆ่าคนตาย โดยประมาท
           เหตุการณ์ที่2 แดงมีความผิดตาม ข้อ 2) เพราะ การที่แดงทำร้าย ร่างกาย ของดำนั้น แดงมีเพียงเจตนา ทำร้าย ร่างกาย ดำ เพียงเท่านั้น ความตาย ของดำ ก็ไม่ได้เกิดจากเจตนา หรือความประมาท ของแดง แต่อย่างใด  แดงจึงมีความผิด ฐานฆ่าคนตาย โดยไม่เจตนา(*** ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ต้องมีเจตนาทำร้ายมาก่อนน่ะครับ แต่ผลของการทำร้ายนั้น ทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายถึงแก่ความตายครับ)
          หวังว่าคงตอบกันถูกทุุกคน น่ะครับ เมื่อเราพิจารณาแล้วว่า เขามีการกระทำ และมีเจตนา แล้ว หรือในกรณีที่กฎหมายบัญญัติ เรื่องการกระทำโดยประมาท ให้เป็นความผิดไว้แล้ว ต่อไป ก็ให้ท่าน ไปพิจารณา ในขั้นตอน ที่ 3 ต่อไป ครับ ค่อยๆ คิดไปทีละขั้นตอนน่ะครับ เพราะกฎหมาย เป็นศาสตร์ที่ใช้ความเป็นเหตุ เป็นผลค่อนข้างสูงครับ 

3.การกระทำนั้น ครบองค์ประกอบ ภายนอก สำหรับความผิดนั้น หรือไม่?
     การกระทำขั้น ตอนที่ 3 นี้ เป็นคนละ กรณีกับ ขั้นตอนที่ 1 น่ะครับ เพราะกรณี ขั้นตอนที่ 3 นี้ เป็นการพิจารณากันว่า การกระทำนั้น เป็นความผิดตาม กฎหมายหรือไม่ครับ 
      เรามาลองพิจารณา ฐานฆ่าคนตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 กันลองดูครับ " ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษ......"
      เราอาจแยก องค์ประกอบภายนอก สำหรับความผิด ตาม มาตรา 288 ได้ดังนี้ครับ
      1)ผู้ใด
      2)ฆ่า
      3)ผู้อื่น

สิ่งที่น่าสนใจ ในความผิดฐานนี้คือ "ผู้อื่น" ครับ หากไม่มี "ผู้อื่น" การกระทำของผู้นั้น ไม่ถือเป็นความผิดครับ เช่น แดง ต้องการ ฆ่าดำ เห็นดำ นอนห่มผ้าอยู่บนที่นอน เข้าใจว่า ดำกำลังนอนอยู่ แต่แท้จริง ดำนอนเสียชีวิต อยู่ก่อนแล้ว แดงเลยใช้ปืนที่เตรียมมายิงใส่ศพของ ดำ 3 นัด แล้ววิ่งหลบหนีไป เช่นนี้ แดงไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตาย น่ะครับ หรืออย่างฐานข่มขืน กรณีฆ่าเหยื่อก่อน แล้วจึงข่มขืน กรณีนี้ผู้กระทำก็จะไม่ผิดฐานข่มขืนน่ะครับ เพราะขาดองค์ประกอบภายนอก คือ "ผู้อื่น" ขั้นตอนที่ 3 นี้ ค่อนข้างจะง่ายหน่อย ครับ ไม่ซับซ้อน ให้ดูเป็นรายฐานความผิดไป แล้วแยกออกมาดู ที่ละองค์ประกอบ ถ้าไม่ครบ เขาก็ไม่ผิด ถ้าครบองค์ประกอบภายนอกแล้ว อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเขาผิดน่ะครับ เรายังต้อง พิจารณา ขั้นตอนที่ 4 ต่อไปอีกครับ สู้ๆ ครับ ทนอ่านอีกนิด เพื่อความเข้าใจกฎหมายอาญาที่ถูกต้องครับ 


4.มีกฎหมายยกเว้น ความผิดนั้นหรือไม่?
     การกระทำผิด บางอย่าง ผู้กระทำผิดเอง ก็กระทำไปด้วยความที่จำต้องทำไปอย่างนั้นจริงๆ กฎหมายก็ยกเว้นความผิดให้ เช่นตาม มาตรา 68 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดจำต้องกระทำการใด เพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่น ให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย อันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำไป พอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้น ไม่มีความผิด" อย่างนี้เป็นต้น
     นอกจากนี้ยังมีมาตราอื่นๆ อีกที่กฎหมายยกเว้นความผิดให้ เช่น มาตรา 305 แพทย์ทำแท้ง กฎหมาย ก็ไม่เอาผิดแพทย์ เพราะการที่แพทย์ต้องทำแท้งเนื่องจาก ปัญหาสุขภาพของหญิงนั้น หรือการที่หญิงนั้นตั้งครรภ์ เนื่องจากถูกล่วงละเมิดทางเพศ และตาม มาตรา 329 การแสดงความเห็นโดยสุจริต ผู้นั้นก็จะไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท หรืออีกมาตราหนึ่ง ตามมาตรา 331 ความคิดเห็นของคู่ความ ในการพิจารณาคดี ในศาล เช่นนี้ก็ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นต้น
     เมื่อเราพิจารณาแล้ว หากมีกฎหมายยกเว้นความผิดให้เขาแล้ว เราก็ต้องปล่อยเขาไป ศาลจะไปลงโทษเขาไม่ได้ แต่หากเราพิจารณาแล้ว หากไม่มีกฎหมาย ยกเว้นความผิดให้เขา เราต้องพิจารณาใน ขั้นตอน สุดท้าย ต่อไป ตอนนี้ยังลงโทษไม่ได้น่ะครับ
5.มีกฎหมายยกเว้น โทษความผิดนั้นหรือไม่?
     ขั้นตอนนี้ ถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ที่เราจะพิจารณา แม้เขากระทำผิด และไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิดให้ เราจะลงโทษเขาได้ ก็ต่อเมื่อ ไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษเขา แล้วทำไมกฎหมาย ต้องยกเว้นโทษให้ด้วยล่ะ ในเมื่อเขาก็ทำผิด มีเจตนาครบองค์ประกอบ ภายนอก ภายใน ทุกอย่างอย่างแล้ว คืออธิบาย สั้นๆ แบบนี้น่ะครับ คนบางประเภทก็ไม่ควรลงโทษครับ ควรจะใช้มาตราการอื่น ในการแก้ไขดีกว่าครับ เช่นคนบ้า วิกลจริต เด็กที่อายุ ยังน้อย หรือบางกรณีกฎหมายก็เห็นว่า การกระทำของใครบางคนนั้น ก็ไม่ควรลงโทษเช่นคนที่ทำผิดด้วยความจำเป็น แบบนี้ครับ
     ผมจะยกตัวอย่าง ที่มีในประมวลกฎหมายอาญา ให้ท่านผู้อ่านลองดูน่ะครับ ว่าจะมีมาตราไหนบ้าง
      1) มาตรา 65 คนวิกลจริตกระทำความผิด 
      2) มาตรา 66 คนมึนเมากระทำความผิด โดยผู้กระทำผิดไม่รู้ว่าสิ่งที่เสพจะทำให้มึนเมา หรือถูกขืน ใจให้เสพ
      3) มาตรา 67 กระทำผิด ด้วยความจำเป็น
      4) มาตรา 70 การกระทำตามคำสั่งที่ มิชอบ ของเจ้าพนักงาน เมื่อผู้กระทำไม่รู้ว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบ
      5) มาตรา 71 สามี - ภริยา กระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์(บางฐาน) ของกันและกัน เช่นสามี ลักทรัพย์ ภริยาของตน เอาไปขายซื้อสุราดื่ม แบบนี้กฎหมายยกเว้นโทษให้น่ะครับ
      6) มาตรา 73, มาตรา 74 เด็กกระทำความผิด 
     ทั้งหมด ที่ผมเขียนมาซ่ะ ยืดยาว นี้ก็อยากจะให้ท่านผู้อ่าน มีความเข้าในพื้นฐาน ว่าคนๆหนึ่ง ที่จะต้องรับโทษทางอาญานั้น จะต้องผ่านขั้นตอนการวินิจฉัย ทางกฎหมาย อย่างไรบ้าง แม้เป็นประชาชนทั่วๆ ไป ก็ต้องรู้ไว้ครับ จะได้รู้เท่าทัน กลโกง ในการหากิน กับคนหาเช้ากินค่ำอย่างเราๆ ท่านๆ  จากบุคคลกลุ่มต่างๆ 
    
 ก่อนจบ บทความนี้ ผมขอสรุปสั้น ๆ อีกครั้ง น่ะครับ ว่ามีขั้นตอนทาง กฎหมาย อย่างไรบ้าง ในการพิจารณา ว่าใคร จะต้องรับโทษ ทางอาญาหรือไม่
     1)มีการกระทำ แล้วหรือยัง ?
     2)การกระทำนั้น ครบองค์ภายใน หรือไม่?
     3)การกระทำนั้น ครบองค์ประกอบ ภายนอก สำหรับความผิดนั้น หรือไม่?
     4)มีกฎหมายยกเว้น ความผิดนั้นหรือไม่?
     5)มีกฎหมายยกเว้น โทษความผิดนั้นหรือไม่?
สุดท้ายนี้ ผมขอฝากสุภาษิตทางกฎหมายไว้ เพื่อเป็นความรู้ แก่ท่านผู้อ่านน่ะครับ "การที่ปล่อยคนชั่ว สักร้อยคน ซึ่งกระทำผิดไป เพื่อไม่ต้องรับโทษ ยังดีกว่า การจับคนดี หนึ่งคนมาลงโทษ" แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ สวัสดีครับ